ปลาบู่ดำ Black Goby
ปลาบู่ตัวนี้ผมซื้อมาจากร้านขายปลาแห่งหนึ่ง เขาบอกว่ามันคือ “ปลาบู่เสือ” แต่ว่าเอ๊ .. พอกลับมาค้นหาข้อมูลปลาบู่เสือ ผมไม่ยักกะเจอข้อมูลปลาบู่เสือที่ว่านี้เลย
ผมก็ค้นหาข้อมูลอยู่หลายวัน ก็ไม่เจอ เจอแต่พวกปลาบู่แคระ ปลาบู่ทรายอะไรทำนองนี้ ในที่สุดก็เลยไปโพสต์ถามคนในกลุ่มเฟสว่ามันปลาอะไรกันแน่
คนในเฟสก็ดีครับ แจ้งชื่อว่ามันคือ “ปลาบู่ดำ” ครับ ไม่ใช่ “ปลาบู่เสือ” แต่อย่างใด หรืออาจมีบางท้องที่หรือบางกลุ่มอาจจะเรียกมันว่า “ปลาบู่เสือ” ก็อาจเป็นได้
หรือไม่คงเป็นเพราะปลาบู่ดำเนี่ย มันมีลักษณะเด่นก็คือ มีหนวดโผล่ออกมาสั้นๆคล้ายๆเขี้ยวของเสือ เขาก็เลยอาจเรียกว่าปลาบู่เสือเพราะเหตุนี้ก็เป็นได้นะครับ
แต่เมื่อผมทราบว่ามันคือปลาบู่ดำแล้ว ผมก็จะเรียกมันว่าปลาบู่ดำนะครับ
เรามาดูข้อมูลของปลาบู่ดำกันนะครับ
ชื่อไทย: ปลาบู่ดำ
ชื่อสามัญ: Black Goby, Tail-spotted Goby
ชื่อวิทยาศาสตร์: Oxyeleotris urophthalmus (Bleeker, 1851)
ขนาดเมื่อโตเต็มวัย: 25-30 เซนติเมตร
การกระจายพันธุ์: ปากแม่น้ำ แม่น้ำขนาดใหญ่
การจำแนกชนิด: ลำตัวเพรียวยาวกว่าปลาบู่ทราบ ลายน้อยกว่า ปลาขนาดเล็กจะมีจุดสีดำขอบส้มอยู่ที่บริเวณโคนหางด้านบน
ถิ่นอาศัย: แม่น้ำ คลองขนาดใหญ่ พบอาศัยถึงแหล่งน้ำกร่อย
ข้อมูลทั่วไป: ปลาล่าเหยื่อขนาดกลาง
เขียนโดย นณณ์ เมื่อ 9 มิถุนายน 2554
จากแหล่งอ้างอิง : http://www.siamensis.org/species_index#7368–Species : Oxyeleotris urophthalmus
นิสัยของปลาบู่ดำ
เท่าที่สังเกตุดูเป็นปลาที่ชอบนอนอยู่นิ่งๆ ยิ่งถ้าตอนยังไม่ชินตู้ยิ่งนิ่งในที่หลบไม่ออกมาเลย แต่พอสักระยะ 4 – 5 วันก็จะเริ่มออกมาว่ายเล่น การว่ายเล่นของปลาบู่ดำจะลอยช้าๆไปนอนอยู่ในจุดต่างๆของตู้ ประมาณ 3 – 5 นาที ก็จะว่ายย้ายที่ โดยย้ายไปเรื่อยๆทั้วทั้งตู้
จะมีอาการว่ายน้ำเร็วก็ต่อเมื่อเจอเหยื่อเป็นๆเช่นลูกปลา ปลาตัวพอดีปาก วิธีการเหมือนปลาล่าเหยื่อทั่วๆไปคือว่ายเข้าไปงับแล้วค่อยๆกลืน
ปลาบู่ดำสามารถฝึกให้เชื่องได้ สามารถป้อนอาหารกับมือได้ บางครั้งเจ้าของเดินมาอาจถึงขั้นว่ายขึ้นมาขออาหารกันเลยทีเดียว
ผมคิดว่าเขาน่าจะหวงถิ่นด้วย จึงคิดว่าไม่เหมาะเลี้ยงปลาชนิดอื่นร่วม
ผมได้ปลาตัวนี้มาเป็นปลาที่ปรับน้ำมาจืดสนิทแล้ว ดังนั้นก็ควรพิจารณาปลาบู่ดำจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าเขาพักปลามาดีพอ
อาหารของปลาบู่ดำ
โดยรวมปลาบู่ดำเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินได้หลายอย่าง อาทิ กุ้งชิ้น หนอนแดงแช่แข็ง ปลาเหยื่อ ตอนนี้กำลังคิดว่าจะฝึกให้มันกินอาหารเม็ดปลามังกรได้รึป่าว (คงต้องลองสักตั้งล่ะ)
หลังจากทราบข้อมูลกันแล้ว เรามาดูคลิปกันหน่อยดีไหม ภาพดิ้นๆได้อย่างคลิปน่าจะบอกอะไรได้ดีกว่านะครับ
แน่นอนครับว่า ผมเอามาก็ต้องซื้อตู้มาเลี้ยงด้วย ก็จัดมาพร้อมกับที่หลบเป็นท่อดินเผาอันนึง + กรองแขวน พอปล่อยลงไปก็หลบอยู่แต่ในท่อเลย
ผ่านไปประมาณสองวัน ถึงได้ยอมโผล่หัวออกมาบ้างครับ แต่เจ้ากรรม สีมันดันซีดลงจนกลายเป็นปลาบู่เทาแล้วซะงั้น 555+
ผมพยายามเอาปลาเหยือมาให้มันกิน ก็ไม่กิน ไม่ไล่ปลาเหยื่อเลยแม้แต่น้อย ทำเอากลุ่มใจไปเลยว่ามันจะยอมกินอะไรรึป่าว แต่พอผ่านไปสีวัน ผมเอากุ้งชิ้นเล็กๆมาให้กิน มันก็งับเข้าให้ เฮ้อ …. โล่งอกไป ชอบกินกุ้งก็ไม่บอก 😈
กินกุ้งชิ้นมาสี่ห้าวัน เอ้อ เริ่มมีพุง รอดแล้วๆ …. แต่วันดีคืนดี เจ้าบู่ดำของผมก็อยากออกไปสู่โลกกว้างด้วยการกระโดดออกมาจากตู้ (ซะงั้น) 😥
น่าจะออกมานานเลยครับ เพราะตอนมาเจอนั้นแห้งแล้ว พอเอาใส่ตู้ ครีบก็ลุ่ยออก เปื่อยไปหมด เยินมากๆๆๆๆๆ 🙁
ผมเลยวัวหายล้อมคอก ด้วยการซื้อฟิวเจอร์บอร์ดมาทำฝาให้ซะเลย …. ง่อววววววว 😆
ช่วงนั้นหนาวด้วย ตู้เล็ก อุณภูมิผันผวน ปลามันก็โทรมและป่วย สงสารมันกลัวมันตาย เลยจัดฮีทเตอร์กับปลอกฮีตเตอร์มาใส่ให้ซะเลย ตั้งไว้ที่ 28.2 จะได้ไม่เปลืองไฟมาก
จัดตู้ใหม่นิดหน่อย พร้อมกับตกแต่งนิ๊ดนึง …
ตอนนี้พี่บู่ดำของผมก็ดีขึ้นมากแล้วล่ะครับ ครีบไม่เยินแล้ว แต่ก็ยังไม่ยาวพริ้วเท่าเดิม คงสักพักกว่าจะกลับมาสมบูรณ์เท่าเดิม แล้วตัวเค้าก็เริ่มดำขึ้นมาบ้างหลังจากใส่ฉากหลังสีน้ำเงิน